น่ารู้!!  วิวัฒนาการการตั้งชื่อลูกของคนไทย
น่ารู้!! วิวัฒนาการการตั้งชื่อลูกของคนไทย

วันที่เผยแพร่: 10 กันยายน 2558


"วิวัฒนาการการ "ตั้งชื่อลูก" ของคนไทยได้ความเป็นมาอย่างยาวนาน ซึ่งทางเว็ปไซต์ theluckyname ได้รวมรวมความรู้รอบตัวมาให้แบ่งปันกัน โดยการตั้งชื่อลูกของคนไทยได้พัฒนามาหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันซึ่งแบ่งเป็นยุคสมัยใหญ่ๆ ดังนี้ . "

น่ารู้!!  วิวัฒนาการการตั้งชื่อลูกของคนไทย

          วิวัฒนาการการ ”ตั้งชื่อลูก” ของคนไทยได้ความเป็นมาอย่างยาวนาน ซึ่งทางเว็ปไซต์ theluckyname ได้รวมรวมความรู้รอบตัวมาให้แบ่งปันกัน โดยการตั้งชื่อลูกของคนไทยได้พัฒนามาหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันซึ่งแบ่งเป็นยุคสมัยใหญ่ๆ ดังนี้

  • สมัยยุคสุโขทัย การตั้งชื่อในยุคนี้มักจะมีแนวคิดในการตั้งชื่อลูกอยู่ 2 แนวคิด แนวคิดแรกเป็นการตั้งชื่อลูกที่แสดงถึงความสำพันธ์ในครอบครัว  มักจะเป็นการตั้งชื่อที่แสดงถึงการแบ่งลำดับของคนในครอบครัว เช่น อ้าย ยี่ ไส และงั่ว (มีความหมายว่าลูกคนที่ 1,2 และ3) ส่วนรูปแบบที่สองคือ การตั้งชื่อที่มีความหมายเกี่ยวกับความมั่นคง และความรุ่งเรื่องของสังคม เช่น คง จอด และร่วง 
     
  • สมัยยุคอยุธยา –ธนบุรี สมัยนี้จะมีการ ”ตั้งชื่อลูก” ที่แสดงออกว่าคนไทยมีความผูกพันกับธรรมชาติรอบๆ ตัว และเห็นคุณค่าของธรรมชาติ โดยใช้สิ่งเหล่านี้ตั้งเป็นชื่อมงคลให้แก่บุตรหลาน เช่น ช้าง หมู เอี้ยง จัน พุด สน แก้ว และทอง ส่วนแนวคิดอีกประการหนึ่งคือ การตั้งชื่อลูกที่มีความหมายที่ดีเพื่อเป็นมงคลแก่ลูกหลาน เช่น พร ดี พูน มิ่ง ยอด และเยี่ยม
     
  • สมัยยุครัตนโกสินทร์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ความหมายที่ใช้ในการตั้งชื่อลูกมักไม่แตกต่างจาก สมัยอยุธยา –ธนบุรี มากนักคือ ยังคงแสดงความคิดที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติ และสะท้อนความเชื่อทางด้านพระพุทธศาสนา เช่น เกด ขาบ คำ จัน ทองดี บุญ และบุญมาก โดยปรากฏชื่อที่มีความหมายแสดงถึงความสัมพันธ์ของพี่น้องสมัยสุโขทัย เช่น เขียวใหญ่ – เขียวเล็ก หรือฉิมใหญ่- ฉิมเล็ก เป็นต้น
     
  • สมัยยุครัตนโกสินทร์ในระบบประชาธิปไตย ระยะต้น ยุคนี้เป็นยุคแรกๆ ที่เห็นถึงวิวัฒนาการของการตั้งชื่อลูกมงคลได้อย่างชัดเจน เพราะว่าในยุคนี้เป็นยุคที่อำนาจระหว่างชนชั้นการปกครอง และประชาชนเริ่มเท่าเทียมกันมากขึ้น คนไทยบางกลุ่มเริ่มตั้งชื่อบุตรหลานโดยใช้วิธีการเดียวกับราชสกุลคือ มีชื่อหลายพยางค์มากขึ้น ใช้คำภาษาบาลี - สันสกฤตมากขึ้น โดยนำหลักโหราศาสตร์เข้ามาใช้ในการตั้งชื่อ เช่่น หลักทักษาปกรณ์หลักเลขศาสตร์หลักโหราศาสตร์ไทย หรือ หลักอายตนะ ๖  เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับบุตรหลาน เช่่น ฉัตร นรินทร์ วิจิตร สังวาล เป็นต้น ส่วนชื่อที่เป็นคำไทยยังใช้กันอยู่แต่ไม่เป็นที่นิยมชื่อที่มีพยางค์เดียว ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อที่มี 2 พยางค์ เช่่น งามพร้อม จงรัก แตงอ่อน หรือบานเย็น เป็นต้น
     
  • สมัยยุครัตนโกสินในระบบประชาธิปไตย – ปัจจุบัน เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการตั้งชื่อของคนไทยครั้งสำคัญ  เกิดขึ้นในสมัยที่ จอมพลแปลก (ป.) พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลต้องการปรับปรุงวัฒนธรรมไทยให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะการตั้งชื่อของคนไทย ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้นมีความเห็นว่าลักษณะชื่อของคนไทย ระหว่างผู้หญิง และผู้ชายยังมีลักษณะที่ซ้ำกัน ไม่แบ่งแยกเพศกันอย่างชัดเจน รัฐบาลจึงออกประกาศชักชวนประชาชนในยุคนั้นให้ตั้งชื่อเพื่อบ่งเพศของเจ้าของชื่อ จึงทำให้ประชาชนตื่นตัว และพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีการตั้งชื่อของตน และบุตรหลานตามประกาศดังกล่าว หลังจากนั้นมาลักษณะชื่อของคนไทยก็จะแยกให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าเป็นชื่อผู้ชายหรือผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความหมายคือ ชื่อ ของผู้ชายส่วนใหญ่จะมีความหมายแสดงถึงอำนาจและความกล้าหาญ ส่วนชื่อของผู้หญิงก็จะมีความหมายที่แสดงถึงความเป็นหญิง และความงาม ส่วนในด้านภาษาก็นิยมใช้ชื่อที่เป็นภาษาบาลี - สันสฤต มากขึ้นเช่่น ผู้ชายชื่อ กล้าณรงค์ ณรงค์ศักดิ์ อำนาจ หรือส่วนผู้หญิงชื่อ นวลอนงค์ นิ่มอนงค์ ผ่องศรี เป็นต้น

          จากประวัติศาสตร์การ ”ตั้งชื่อลูก” จากอดีตจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า แม้สังคมจะเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเพียงใด แต่ความนิยมตั้งชื่อลูกให้มีความเป็นสิริมงคล การตั้งชื่อที่อ้างอิงตามคติความเชื่อเกี่ยวกับโหราศาสตร์ หรือการตั้งชื่อให้มีความหมายมงคลก็ยังคงฝังแน่นอยู่ในความคิดของคนไทยอีกนานเท่านาน......

 

อ้างอิง

วิทยานิพนธ์ คุณเทียมจันทร์ อ่ำเหวว. “บทบาททางการเมือง และการปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม” ปริญญา แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิทยานิพนธ์ คุณสมชาย สำเนียงงาม. (ลักษณะภาษาที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อเกี่ยวกับสิริมงคล และกาลกิณีในชื่อของคนไทย ภาควิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

สาวิตรี แสนสว่าง และสำรวย นักการเรียน “ชื่อดีมีความหมาย” กรุงเทพมหานคร : เคล็ดไทย

ผศ. สุวรรณา ตั้งฑีฆะรักษ์ บทความ “ชื่อของคนไทย....ใครว่าไม่สำคัญ“ จากหนังสือ Executive Journal

 

บทความโดย

 อ.ชัญ  theluckyname  “เปลี่ยนชื่อ  เปลี่ยนชีวิต”

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการ “ตั้งชื่อลูก  –ให้ฤกษ์มงคล

 Tags: ตั้งชื่อลูก, ศาสตร์การตั้งชื่อ, ตั้งชื่อมงคล

← ย้อนกลับ

คลังรูปภาพ
theluckyname
theluckyname
theluckyname